หลักการปฏิบัติเบื้องต้น
๑. การนั่ง เริ่มแรกของการฝึกท่านั่ง นั่งพับเพียบ ซึ่งเป็นลักษณะแบบไทยๆ หน้าตรง ไม่ก้มหน้า ไม่เหลียวหน้าเหลียวหลัง การนั่งพับเพียบดูเรียบร้อยงามตาตามลักษณะวัฒนธรรมไทย การนั่งตัวตรงไม่เหลียวไปมา เป็นลักษณะที่ถูกต้องตามหลักของสรีรสัทศาสตร์ คือ ช่วยให้สามารถระบายลมหายใจเข้า-ออก ได้สะดวก ช่วยให้ทุกส่วนในร่างกายปลอดโปร่ง ทำให้เสียงดังและไม่เหนื่อยแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับร้องเพลงไทยไม่จำเป็นต้องนั่งพับเพียบเสมอไป การนั่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามโอกาสและสถานที่ เช่นในบางโอกาสต้องนั่งเก้าอี้ ที่สำคัญคือ ต้องนั่งตัวตรงไม่เหลียวไปมาตามที่กล่าวแล้ว
๒. การใช้กำลังเสียง กำลังเสียงหมายถึงการออกเสียงดังอย่างเต็มที่ในช่วงระยะลมหายใจแต่ละช่วง ออกเสียงให้เต็มที่ไม่ออมแรง การฝึกให้ร้องเต็มเสียงนี้ จะทำให้รู้กำลังของตัวเองว่าช่วงหายใจแต่ละช่วงจะออกเสียงได้นานเท่าใด เพราะในขณะที่เสียงออกจะเป็นช่วงของการระบายลมหายใจออกเท่านั้น เวลาฝึกอ้าปากเล็กน้อยเพื่อให้เสียงออกได้ชัดเจนและไม่ขึ้นจมูก
๓. การผ่อนเลาหายใจ ช่วงระยะของการหายใจมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการขับร้องเพลงไทย ควรรู้ระยะการผ่อนหายใจในแต่ละวรรค แต่ละช่วงด้วย ฝึกอ่านหนังสือให้ถูกวรรคตอน และได้ใจความ ฝึกให้กักลมหายใจไว้แล้วค่อยๆผ่อนเมื่อหมดวรรคเพราะปกติแล้ว คนเราหายใจเข้าทุกๆ ๕ วินาที แต่ถ้าเราพูดประโยคยาวๆเราเปลี่ยนอัตราการหายใจเข้าออก ปกติเราจะพูดเวลาหายใจออกเท่านั้น การผ่อนหายใจจึงมีส่วนสัมพันธ์กับกำลังเสียงเป็นอย่างมาก ถ้าเราสามารถกักลมหายใจไว้ได้นาน จะช่วยให้เอื้อนหรือเปล่งเสียงได้ยาวตามต้องการ
๔. จังหวะ คือการแบ่งส่วนย่อยของทำนองเพลง ซึ่งดำเนินไปด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ จังหวะเป็นสิ่งสำคัญควรรู้จักรักษาให้ถูกต้อง คือ ให้มีความสม่ำเสมอ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป การแบ่งช่วงหายใจมีส่วนช่วยในเรื่องจังหวะเป็นอย่างมาก เคาะจังหวะเวลาร้องเพลงทุกครั้ง
๕. อักขะระดี ในที่นี้หมายถึงการเปล่งถ้อยคำให้ถูกต้อง ชัดเจน การร้องเพลงไทยให้ชัดเจนนั้น ดูเหมือนว่ายากกว่าการพูดให้ชัด ทั้งนี้เพราะนอกจากจะระมัดระวังการใช้อวัยวะในการกล่อมเสียง เช่น ปาก ลิ้น ฟัน ฯลฯ ให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องระวังระดับเสียง ท่วงทำนองและวรรคตอนให้ถูกต้องอีกด้วย การฝึกอักขระควรฝึกในหัวข้อต่อไปนี้
ก. ร้องให้ถูกตามบทริองเช่น พุทธา นุภาพ นำผล
ข. ออกเสียง ร ล หรือควบกล้ำให้ชัดเจน
ค. ออกเสียงสั้นยาวให้ถูกต้อง เช่น เสร็จ สนุก ฯลฯ
ควรอ่านบทร้องก่อน โดยให้รู้จักวรรคตอนให้ถูกต้องตามลักษณะของบทร้อง ฝึกออกเสียง ร ล ฯลฯ คำสั้น-ยาว ให้ถูกต้องเสียก่อนจึงเริ่มขับร้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น